เรามักพบขนมหวาน อย่างฝอยทอง ขนมไทยมงคล ร่วมกับขนมชนิดอื่นๆ เช่น ชิฟฟ่อนฝอยทอง ขนมเค้กหน้าฝอยทอง หรือ คู่กับทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน มักถูกจัดเป็นชุดรวมกันเป็นขนมไทยมงคล สำหรับจัดงานมงคลต่างๆ

ฝอยทองขนมหวานไทยโบราณมีลักษณะเป็นเส้นฝอยสีเหลืองทองจากไข่แดงของไข่เป็ด ใครอยากรู้ประวัติและวิธีการทำเรามีข้อมูลให้คุณแล้วค่ะ

หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า ฝอยทอง เป็นขนมไทยที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย แต่จริงๆแล้วประวัติของขนมหวานชนิดนี้ ต้นกำเนิดเป็นขนมจากประเทศโปรตุเกส ลักษณะตามชื่อเลยคือ เป็นฝอยๆสีทองซึ่งทำจากไข่แดงของไข่เป็ด โดยชาวโปรตุเกสมักใช้รับประทานคู่กับขนมปัง หรือขนมเค้ก ซึ่ง ขนมฝอยทองนี้ มีชื่อที่รู้จักในหลายประเทศแตกต่างกัน เช่น ประเทศสเปนนั้น คนสเปนเรียกว่า อูเอโบอิลาโด แปลว่า ไข่ที่ปั่นเป็นเส้นด้าย ส่วนในประเทศญี่ปุ่น จะเรียกว่า เครังโซเม็ง แปลว่า เส้นไข่ไก่ ส่วนประเทศกัมพูชาเรียว่า วาวี
ประเทศมาเลเซีย เรียกว่า จาลามัช แปลว่า ตาข่ายทอง และในประเทศอินเดีย เรียกว่า มุตตามาลา แปลว่า ฝอยไข่ เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย เพื่อนๆหลายคน ทราบแล้วใช่มั้ยล่ะคะ ว่าต้นกำเนิดอยู่ในยุคไหน ทุกคนที่เคยดูละครบุพเพสันนิวาส ต้องตอบได้แน่นอน สำหรับหลายคนที่ไม่ทราบไม่เป็นไร
วันนี้เรามีข้อมูลมาให้ค่ะ ขนมฝอยทองในประเทศไทยนั้น มีต้นกำเนิดพร้อมกับพี่น้องของมันก็คือ ทองหยิบ ทองหยอด สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
โดย ท้าวทองกีบม้า หรือ มารีอา กียูมาร์ ดี ปีญา หญิงสาวลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ซึ่งเธอนั้นเป็น ภรรยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ท้าวทองกีบม้ามีหน้าที่
เป็นหัวหน้าเครื่องต้น หรือเป็นหัวหน้าแม่ครัวผู้ทำอาหารเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตจากฝรั่งเศส ที่มาเยือนกรุงศรีอยุธยา

เอาล่ะ!! คราวนี้เรามาดูกันดีกว่า ว่าต้องเตรียมส่วนผสมและอุปกรณ์ในการทำขนมฝอยทอง อะไรบ้างไปดูกัน

ภาพ ขนมฝอยทอง แนะนำวิธีทำฝอยทอง ขนมไทยโบราณ

ส่วนผสมขนมฝอยทอง

  • ไข่เป็ด 10 ฟอง
  • น้ำตาลทราย 3 ถ้วย
  • ไข่ไก่ 5 ฟอง
  • น้ำลอยดอกมะลิ 3 ถ้วย หรือน้ำผสมหัวเชื้อกลิ่นมะลิ
  • ไข่น้ำค้าง 2 – 3 ข้อนโต๊ะ
  • ใบเตยมัดรวมกัน ประมาณ 3 – 4 ใบ

อุปกรณ์ในการเตรียมทำขนมฝอยทอง

  • กระทะทองเหลือง
  • กรวยใบตองหรือกรวยโลหะ
  • ไม้แหลมยาาวประมาณ 1 ฟุต หรือ 12 นิ้ว
  • ตะแกรง
  • ถาดรองน้ำเชื่อม

วิธีทำขนมฝอยทอง

  1. ขยำเปลือกไข่กับน้ำตาลในกระทะทองพอเข้ากัน ใส่น้ำลอยดอกมะลิ ใบเตย ยกขึ้นตั้งไฟกลางเคี่ยวจนน้ำตาลละลาย ยกลงกรองด้วยผ้าขาวบาง ใส่ในกระทะทองใบเดิม
    เคี่ยวต่อด้วยไฟอ่อน จนเป็นน้ำเชื่อม
  2. ต่อยไข่แยกไข่แดง และเก็บเอาไข่ขาวส่วนที่เป็นลิ่ม หรือไข่ขาวที่ติดอยู่กับเปลือกด้านป้าน เรียกว่า “ไข่น้ำค้าง” ไว้ต่างหาก
    จากนั้นรีดเอาเยื่อหุ้มออกจนหมด ใส่ไข่แดงในอ่างผสมแล้วใส่ไข่น้ำค้างคนด้วยตะกร้อพอเข้ากันระวังอย่าตีให้ฟูเพราะจะทำให้เส้นขาดโรยลงในกระทะ
    ไข่น้ำค้างนั้นช่วยให้เส้นฝอยทองเหนียวนุ่ม ไม่ขาดง่าย
  3. เมื่อน้ำเชื่อมที่เคี่ยวเริ่มข้นเป็นสาย ตักไข่แดงที่ตีใส่กรวย โรยบนน้ำเชื่อมรอบๆประมาณ 10 – 30 รอบ รอสักครู่พอไช่เริ่มสุกประมาณ 2 นาที จึงใช้ไม้แหลมสอยขึ้น
    พับเป็นแพ (เมื่อทำปเรื่อยๆน้ำเชื่อมจะข้นมากให้เติมน้ำเล็กน้อย) หากต้องการให้เส้นเล็กให้ยกกรวยสูงจากน้ำเชื่อม
    หากต้องการเส้นใหญ่ให้โรยต่ำๆ
  4. อบฝอยทองด้วยควันเทียนหรือมะลิหรือกระดังงา จัดใส่จาน เสิร์ฟ หรือเก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิด
ภาพ ฝอยทองขนมมงคล แนะนำวิธีทำฝอยทอง ขนมไทยโบราณ

ความหมายขนมไทยมงคลอย่างฝอยทอง

ฝอยทอง เป็น 1 ในขนมมงคล 9 อย่าง เชื่อว่า ถ้าให้คู่บ่าวสาวในวันมงคล อย่างเช่น วันแต่งงานสื่อถึงความห่วงใยแสนพิเศษไม่มีวันสิ้นสุด เพราะขนมฝอยทองนั้นมีลักษณะเป็นเกลียวเส้นยาวไม่มีที่สิ้นสุดความหมายของขนมชนิดนี้จึงแทนความหมายเกี่ยวกับการอวยพรให้ครองชีวิตคู่อยู่ด้วยกันไปนานๆ

สุดท้ายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่อง แนะนำวิธีทำฝอยทอง ขนมหวานไทยโบราณ ที่มีประวัติมายาวนาน จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ สามารถนำสูตรวิธีทำไปประกอบอาชีพ หรือรับประทานภายในครอบครัวนะคะ